นพ.สสจ.น่าน แสดงภาพเห็ดพิษที่ร่วมกับ มทร.ล้านนา ทำขึ้นเพื่อซักประวัติผู้ป่วยกินเห็ดพิษ หวังให้ผู้ป่วยหรือญาติพอจะชี้บอกได้ว่ากินเห็ดชนิดใดมา หลังจากเข้าสู่ช่วงหน้าฝน ชาวบ้านเข้าป่าเก็บเห็ดพิษมารับประทาน แล้วเกิดล้มป่วยหลายราย…

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 พ.ค. 2555 ที่โรงพยาบาลน่าน นพ.พิศิษฐ ศรีประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) น่าน ได้นำภาพจากผลการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา น่าน มาใช้ในวงการแพทย์การพยาบาลที่โรงพยาบาลใน จ.น่าน และสถานพยาบาลทั่วไป ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการชักประวัติผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษ ทำให้ผู้ป่วยหรือญาติพอจะชี้บอกได้ว่ากินเห็ดชนิดใดมา รวมถึงแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางสาธารณสุขบางส่วนไม่เคยรู้จักสัมผัสเห็ดดังกล่าวมาก่อน

นพ.นิวัฒน์ชัย สุจริตจันทร์ ผอ.รพ.น่าน กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝน ชาวบ้านมักนิยมออกไปหาเห็ดมารับประทาน หรือนำไปขาย ที่จะต้องระวังให้มากคือ เห็ดป่า หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เห็ดไข่ห่าน” ซึ่งมีรูปร่างเหมือนไข่ กลม สีขาว ขนาดประมาณไข่เป็ดหรือไข่ไก่ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบนสันเขา แถบชายแดนไทย-ลาว จึงขอแจ้งเตือนประชาชนว่า ถ้าไม่แน่ใจ ก็ให้หลีกเลี่ยงอย่ากินเห็ดที่เก็บมาจากป่า โดยเฉพาะเห็ดที่มีสีขาวนวล ลักษณะคล้ายไข่เป็ด ไข่ไก่ ที่เก็บมาจากบริเวณชายแดนไทย-ลาว ในพื้นที่ ต.บ่อเกลือใต้ รวมถึงพื้นที่ อ.ปัว อ.เชียงกลาง และ อ.ทุ่งช้าง ซึ่งพบจะเห็ดชนิดนี้ชุกชุมมาก โดยเป็นเห็ดที่มีสารพิษร้ายแรง ทำให้ระบบการทำงานของตับและไตล้มเหลวจนเสียชีวิตได้

ผอ.รพ.น่าน กล่าวอีกว่า เห็ดชนิดนี้มีพิษร้ายแรงที่สุด มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “อะเมนตาฟิลอน” สารพิษที่อยู่ในเห็ดนั้น แม้จะนำมาทำให้สุกด้วยความร้อน ก็ไม่สามารถสลายพิษดังกล่าวได้ ส่งผลให้แต่ละปี มีชาวน่านที่กินเห็ดพิษชนิดนี้เสียชีวิตไปไม่น้อยกว่า 5 ราย จาก อ.บ่อเกลือ เมื่อเดือน พ.ค. 2550 จึงขอฝากเตือนชาวบ้านตามแนวชายแดนไทย-ลาว เพราะเห็ดจะขึ้นมากในบริเวณนั้น ส่วนการรักษาเมื่อคนไข้รับประทานเห็ดชนิดนี้เข้าไป พอพิษเข้าสู่ระบบอวัยวะภายในแล้วจะไม่สามารถล้างท้องได้ แพทย์จะรักษาโดยการให้ยาต้านพิษ และขึ้นอยู่กับปริมาณที่กินเข้าไปด้วยว่ามากน้อยแค่ไหน รวมถึงความแข็งแรงของร่างกายแต่ละคนที่จะช่วยขับถ่ายพิษออกมาเองด้วย

ขณะที่ นพ.พิศิษฐ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงต้นฤดูฝน จะมีเห็ดหลากหลายชนิดออกมา ซึ่งเห็ดเป็นอาหารตามธรรมชาติที่ผู้คนนิยมนำมาประกอบอาหารกันอย่างแพร่หลาย เมื่อมีฝนตกลงมา เห็ดชนิดต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก และเห็ดที่พบก็มีหลากชนิดหลายพันธุ์ ทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนเห็ดกินได้ เช่น เห็ดไข่ห่านกินได้ แต่มีลักษณะคล้ายระโงกหิน ซึ่งเป็นเห็ดมีพิษร้ายแรง ถ้าไม่สังเกตให้ดี หรือไม่มีความชำนาญในการดูเห็ด แล้วนำไปกิน จะทำให้มีอาการป่วยอาจถึงตายได้ ทั้งนี้ จากสถานการณ์ทางระบาดวิทยาของจังหวัดน่าน พบว่าอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษในทุกปี โดยเฉพาะระหว่างเดือน พ.ค.และปี 2550 อ.บ่อเกลือ มีผู้ป่วยกินเห็ดโม่งโก้ง หรือเห็ดไข่ห่านเป็นพิษ จำนวน 11 ราย และเสียชีวิต 5 ราย

อย่างไรก็ตาม การสังเกตลักษณะเห็ดว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่ โดยเฉพาะเห็ดที่เก็บมาจากป่านั้น สามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอก คือ เห็ดจะมีสีส้ม หรือสีแดงเข้ม ตั้งแต่หมวกเห็ดจนถึงครีบดอกและก้านดอก หมวกเห็ดมีแผ่น หรือเกล็ดขรุขระ ขนาด 3–5 นิ้ว ลักษณะจุดยอดเรียบและมีศูนย์กลางอยู่ตรงกับต้น ถ้าหักดูจะมียางสีขาวเหนียวๆ เมื่อนำเห็ดนั้นมาวางในห้องมืดนานหลายนาทีจะพบว่าเห็ดเรืองแสงได้ ทั้งนี้ เห็ดที่มักเป็นพิษ ได้แก่ เห็ดโคน เห็ดโม่งโก้งขาว เห็ดไข่ห่าน เห็ดไข่ห่านตีนตัน เห็ดขี้ควาย เห็ดนกยูง และเห็ดหาว

นอกจากนี้ นายแพทย์ สสจ.น่าน ยังกล่าวด้วยว่า ผู้ที่กินเห็ดพิษจะมีอาการหลังกินเข้าไปประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง โดยจะมีอาการ เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริว กระหายน้ำ บางรายเป็นรุนแรงจนทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลวถึงแก่ชีวิตได้ ที่ผ่านมาการซักประวัติผู้ป่วยบางครั้งก็เป็นปัญหาใหญ่ ฉะนั้น จึงนำรูปภาพจากผลการศึกษามาใช้กับผู้ป่วยที่ รพ.น่าน เพื่อให้การวินิจฉัยโรคและการรักษาชีวิตผู้ป่วยได้เร็วยิ่งขึ้น.

 

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/region/262972

 

 

About naelkung

PR Consulting, Media Monitoring, Catering, Marketing, Gadgets, Traveling, / Touch me !!!! U will know all about me...

ใส่ความเห็น